ศูนย์ ABCD CENTRE คณะพาณิชย์ฯ ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาถอดบทเรียนการดูแลผู้สูงอายุประเทศญี่ปุ่น พบเทรนด์ปัจจุบันเปลี่ยนจาก “อยู่รวมกลุ่ม” เป็น “เน้นปัจเจก” มากขึ้น ด้าน “ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตย์ฯ ม.โตเกียวเดนกิ” พยากรณ์อนาคต ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะถูกแทนที่ด้วยแนวคิดใหม่ ระบุต้องให้ผู้สูงวัยอาศัยอยู่ที่เดิมแต่ดึงบริการต่างๆ ให้เข้าไปถึง ขณะที่อาจารย์ มธ. ยืนยัน ขณะนี้บางจังหวัดในประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่นโยบายรัฐกลับยังไร้ทิศทาง-แยกส่วนการทำ มองเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเพียง “การสงเคราะห์” เสนอต้องดูแลทั้งมิติที่อยู่-สุขภาพ-รายได้ เพื่อสร้างความมั่นคง

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (ABCD CENTRE) โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (MRE) และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) ร่วมกันจัดงานสัมมนาพิเศษหัวข้อ “มิติใหม่ของการดูแลในสังคมสูงอายุ ถอดบทเรียนจากญี่ปุ่น” เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 ท่ามกลางผู้ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

ผศ.ดร.อาสึกะ ยามาดะ School of Science and Technology for Future Life ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวเดนกิ เปิดเผยผ่านระบบ Zoom โดยบอกเล่าถึงนโยบายและการดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น ตอนหนึ่งว่า ลักษณะการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นในอดีตมักออกแบบให้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม แต่ระยะหลังมานี้ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกมากขึ้น

สำหรับหลักการสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุระยะหลัง ประกอบด้วย Individualization หรือเฉพาะบุคคล คือจากเดิมที่อาจเป็นห้องรวมใหญ่ๆ หรือใช้ห้องน้ำรวม ก็เปลี่ยนมาเป็นห้องเดี่ยวโดยใช้วิธี Scale-down ลดขนาดลงมา หรือ Homeization ที่คิดถึงการอยู่อาศัยโดยออกแบบกิจกรรมของผู้สูงอายุในแต่ละวัน จัดพื้นที่ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้มุมมองพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และดูแลให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

ผศ.ดร.ยามาดะ กล่าวถึงตัวอย่างการออกแบบว่า ในระยะหลังมานี้การออกแบบมีการปรับเปลี่ยนไป เช่น พื้นที่รับประทานอาหารส่วนรวมเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแต่ก็ยังมีการจัดพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นมุมส่วนตัวได้ หรือการจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานบ้านง่ายๆ บางอย่างเองได้ เช่น ตากผ้า พับผ้า ถูพื้น ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพตัวเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ หรือวัฒนธรรมการอาบน้ำของคนญี่ปุ่นที่มักจะแช่น้ำร้อนจากที่ต้องแช่รวมกัน ก็จัดให้มีการแช่แบบส่วนตัวหรือออกแบบให้สามารถแช่ได้แม้จะผู้ติดเตียง

“ปัจจุบันญี่ปุ่นมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาวอยู่มาก แต่สิ่งเหล่านี้จะลดลงเรื่อยๆ และค่อยๆ หมดไป นั่นเพราะศูนย์ในลักษณะนี้เป็นระบบที่ดึงเอาผู้สูงอายุให้หลุดออกมาจากชุมชน หลุดจากวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ส่วนแนวคิดใหม่คือการทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คืออาศัยอยู่ที่เดิมแต่นำเอาบริการต่างๆ เข้าไปให้แทน ชุมชนร่วมกันดูแล หรือความพยายามที่จะทำให้เป็นระบบไป-กลับ เป็นบริการระบบ Day care หรือ Short stay มากขึ้น” ผศ.ดร.ยามาดะ กล่าว

ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ รองคณบดีฝ่ายการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. เปิดเผยว่า เรามักเข้าใจว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นรายจังหวัดจะพบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว โดยเริ่มจากจังหวัดเล็กๆ ก่อน อาทิ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง

นอกจากนี้ แม้ประเทศไทยมีนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) และยังมีแผนระดับกระทรวง รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก แต่ภาพรวมของนโยบายกลับแยกส่วนกันทำ ไม่มีจุดเชื่อมต่อ ไม่มีเจ้าภาพ และไม่มีเครื่องมือที่จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ

สำหรับนโยบายหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะปะปนมากับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีรายได้น้อย และวิธีคิดต่อการจัดทำนโยบายก็เป็นไปในลักษณะของสังคมสงเคราะห์ที่ไม่ได้เน้นความมั่นคงของผู้สูงอายุแต่อย่างใด

“เรานิยามผู้สูงอายุว่าเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่จริงๆ แล้วการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มั่นคงนั้น จำเป็นต้องทำเตรียมตัวกันแต่อายุ 40 ปี ผมคิดว่าเราต้องกำหนดนิยามและเป้าหมายกันใหม่ ต้องเน้นที่อายุ 40 ปี และต้องมองความมั่นคงทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และรายได้” ผศ.ดร.ชูชาติ กล่าว

นายอำนาจ ประสิทธิ์ดำรง กรรมการผู้จัดการใหญ่ The Senizens ในฐานะผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มองการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในมิติของ Property หากแต่มองเป็นเรื่องของ medical health care คือการสร้าง Nursing home ที่มุ่งเน้นบริการทางการแพทย์ โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพ คอยดูแลฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ส่วนทำเลการก่อสร้างใกล้รถไฟฟ้า เนื่องจากพฤติกรรมของคนสมัยนี้ ลูกหลานหรือญาติต้องการมาเยี่ยมหรือพาผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก่อนจะพากลับมาส่งในวันทำงาน

นางเปรมมิกา พฤฒินารากร CEO บริษัท ทอฝัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กล่าวว่า โครงการ Kensington เขาใหญ่ ถูกพัฒนาขึ้นจากหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ Life คือจัดให้มีกิจกรรมที่คนในวัยเกษียณต้องการ เช่น สอนวาดรูป ร้องเพลง ทำเบเกอรี่ ปลูกสวนผัก ฯลฯ Space เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมของบ้านให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย เช่น มีห้องกลางสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุกลุ่มติดเพื่อน และ Design เป็นการออกแบบอารยสถาปัตย์ที่เป็นมิตรกับทุกคน เช่น มีทางลาดสำหรับรถเข็น มีลิฟต์ ฯลฯ ทั้งหมดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

รศ.ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช ผู้อำนวยการโครงการ MRE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เราสามารถมองภาพอนาคตของการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยผ่านประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นได้ โดยสิ่งที่เห็นชัดคือรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนไป ทั้งในด้าน Hardware เช่น การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้บริหารจัดการผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น และด้าน Software เช่น พฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปนั้น จะมาเป็นตัวกำหนดการออกแบบที่อยู่อาศัย

ด้าน ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ ABCD Centre คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า ศูนย์ ABCD Centre มุ่งหวังที่จะให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยทุกระดับ ทุกรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงของที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมาโดยตลอด และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในและต่างประเทศ เพื่อทำงานวิจัย จัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน รวมถึงการจัดเวทีสัมมนา รวบรวมความรู้และมุมมองเพื่อช่วยตอบโจทย์การเดินหน้าต่อไปของประเทศ

“ภายใต้ข้อจำกัดของประเทศไทย เราอาจไม่มีเวลาที่จะมาลองผิดลองถูกมากนัก ฉะนั้นในเมื่อประเทศญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนเรา เขาจึงได้เรียนรู้มาก่อน การถอดบทเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไม่เดินไปผิดทาง ซึ่งนอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว เราจะมีการพูดถึงมิติด้านสุขภาพและการดูแลด้วย” ผศ.ดร.ดวงใจ กล่าว