วงสัมมนา “มิติใหม่ของการดูแล Functional Recovery Care” คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เปิดสถานการณ์ทางการเงินของ “ผู้สูงอายุ” พบคนแก่เงินหมดก่อนตายราว 14-17 ปี ขณะที่ค่าดูแล “ผู้ป่วยติดเตียง” พึ่งสูงถึงปีละ 2.3 แสนบาท ผงะ! ต้องใช้เวลาดูแลมากกว่าวันละ 18 ชั่วโมง ทางออกคือประวิงเวลาให้ป่วยติดเตียงน้อยที่สุด ด้าน “ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น” ถอดประสบการณ์การดูแลตามแนวทาง Functional Recovery ใช้ต้นทุนต่ำ ฟื้นฟูสมรรถภาพได้จริง ช่วยประหยัดงบดูแลจำนวนมหาศาล
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (ABCD CENTRE) จัดงานสัมมนาพิเศษหัวข้อ “มิติใหม่ของการดูแล Functional Recovery Care” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 โดยสาระสำคัญได้พูดถึงการใช้เทคนิค Functional Recovery Care (FRC) เข้ามาดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อย่างมหาศาล
ศ. ดร.อัญญา ขันธวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คนไทยมีอายุขัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2583 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ชายไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 76.8 ปี ขณะที่หญิงไทยจะอยู่ที่ 83.2 ปี
ทั้งนี้ ปัญหาที่ตามมาหลังจากคนมีอายุยืนยาวมากขึ้นคือค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมาณไว้ว่า ผู้สูงอายุกลุ่มรายได้ปานกลางในเขตเมืองต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณราว 4.3 ล้านบาท ส่วนเขตชนบทอยู่ที่ 3.4 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ศ.อัญญาวิจัยพบอีกว่า ผู้สูงอายุเพศชายจะใช้เงินหมดก่อนถึงวันเสียชีวิตประมาณ 14 ปี ส่วนเพศหญิงจะหมดก่อนเสียชีวิตถึง 17 ปี
นอกจากเงินออมที่ไม่พอใช้แล้ว กรณีที่เป็นผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงจะต้องมีเงินเพื่อใช้ดูแลอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าจ้างบุคลากร ค่าไปพบแพทย์ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้สูงอายุติดบ้านจะอยู่ที่ปีละ 1.2 แสนบาท ส่วนผู้สูงอายุติดเตียงจะอยู่ที่ปีละ 2.3 แสนบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ที่ต้องดูแล
“ร่างกายเสื่อมถอยไปจนติดบ้านหรือติดเตียงแล้ว ปัญหาทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายก็จะตกอยู่กับครอบครัว จากกลุ่มตัวอย่างที่ลำพูนพบว่าแต่ละวันต้องใช้เวลาดูแลผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง ผู้ดูแลส่วนใหญ่เป็นลูกสาว ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องทำงานไปพร้อมกันด้วย แน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความเครียดที่สูงมาก” ศ. ดร.อัญญา กล่าว
ศ. ดร.อัญญา กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความเสื่อมถอยของร่างกายได้ และพบว่าคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี ฉะนั้นหลักคิดในการบรรเทาปัญหาในเรื่องนี้จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อยืดเวลาการเป็นผู้สูงอายุติดสังคมให้นานที่สุด เพื่อลดเวลาการเป็นผู้ป่วยติดเตียงให้น้อยหรือสั้นที่สุด ขณะเดียวกันควรฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยติดเตียงให้กลับไปเป็นผู้ป่วยติดบ้าน และจากติดบ้านให้กลับไปเป็นติดสังคม ซึ่งหากทำได้จะสามารถประหยัดค่าใช้ในการดูแลได้ราวๆ รายละ 7 แสนบาท
ดร.เมงูมิ โคไดระ International University of Health and Welfare Graduate School, Director of Japan Society of Functional recovery Care and Power Rehabilitation กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีตัวเลขผู้สูงอายุที่อายุเกิน 100 ปี มากกว่า 7 หมื่นคน และอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่ 81.4 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 87.4 ปี นั่นทำให้ญี่ปุ่นมีลักษณะของสังคมสูงอายุที่รุนแรง เกิดเป็นค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพมากถึง 11 ล้านล้านเยน และยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้มีการคิดค้น FRC ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ถูกนำไปจัดทำเป็นนโยบายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้แนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้ฟื้นฟูสมรรถภาพขึ้นมาให้ได้มากที่สุดจนสามารถดูแลตัวเองได้ เช่น ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงหรือนอนเอนบนรถเข็น ก็ค่อยๆ ปรับท่าทางให้เป็นท่านั่งปกติ จากที่เดินไม่ได้ก็ฝึกการยืนและเดินให้สามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าจนกระทั่งไม่ต้องใช้ จากทานอาหารผ่านสายยางก็เริ่มปรับเป็นการทานผ่านปาก หรือจากที่ใส่ผ้าอ้อมก็เปลี่ยนเป็นพาลุกเดินเข้าห้องน้ำแทน เป็นต้น
สำหรับหลักการพื้นฐานของ FRC ประกอบด้วยการดูแลใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. น้ำ ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร ที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์และระดับการรู้สึกตัวของผู้สูงอายุที่ดีขึ้น 2. อาหาร รับประทานให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,500 กิโลแคลอรี่ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นความสุขและช่วงเวลาดีๆ ในชีวิต 3. การออกกำลังกาย เดินอย่างน้อยวันละ 2 กิโลเมตร เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น 4. การขับถ่าย ซึ่งเมื่อทำทั้งสามข้อจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น และสามารถขับถ่ายได้ตามความต้องการของร่างกาย
ดร.เมงูมิ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันแม้ญี่ปุ่นจะยังไม่ได้มีการใช้ FRC ในการดูแลผู้สูงอายุครบทุกแห่ง แต่จากการคำนวณพบว่าหากมีการนำไปประยุกต์ใช้ในภาพรวมของการดูแลผู้สูงอายุทั่วทั้งประเทศที่มีกว่า 1.2 ล้านคน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้มากกว่า 1.7 แสนล้านเยน ไม่นับรวมถึงค่าอุปกรณ์ที่ใช้ดูแล เช่น ผ้าอ้อม และอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่นเดียวกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยเองที่จะดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
“FRC เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ดูแลเรื่องร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขาได้กำหนดการตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นการดูแลที่เคารพความเป็นมนุษย์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อตัวผู้สูงอายุเอง ยังส่งผลดีต่อครอบครัวที่มีภาระในการดูแลน้อยลง ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายในระดับประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีการนี้ทำได้ในต้นทุนที่ต่ำ และประเทศไทยสามารถนำวิธีการนี้มาผสมผสานเพื่อปรับใช้ในการดูแลได้” ดร.เมงูมิ กล่าว
ขณะที่ นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มุมมองการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของกรมอนามัย สอดคล้องกับแนวทาง FRC คือมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงวัยทำงานให้มีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่ในผู้สูงอายุก็มีการดูแลระยะยาว Long Term Care (LTC) กระทั่งการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
“ที่ดีที่สุดคือการให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในสังคม ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพยืนยาว ในภาพรวมจึงเห็นด้วย 100% กับแนวทาง FRC ที่สามารถทำได้ไม่ยาก ซึ่งเราได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนเรา ขณะเดียวกันเขาก็ได้เข้ามาเรียนรู้งานด้าน LTC ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมาศึกษาจากของเราด้วยเช่นกัน” นพ.อรรถพล กล่าว
นายสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และผู้ร่วมก่อตั้ง Buddy Home Care วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า การดำเนินงานของ Buddy Home Care ได้ใช้ชุมชนเป็นฐานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โดยนำกำไรจากการให้บริการผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่าย มาพัฒนาการดูแลให้กับผู้สูงอายุที่ยากไร้ พร้อมกับที่ได้ส่งเสริมเด็กด้อยโอกาสที่เข้ามาเป็น Caregiver ในการดูแล
“เราให้โอกาสในกลุ่มเด็กชนเผ่าที่เรียนจบชั้น ม.3 แต่ไม่ได้ไปทำอะไรต่อ ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนหุบเขา และมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์หรือยาเสพติด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและส่งเสริมให้เด็กมีอาชีพ โดยเข้ามาเรียนหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุและได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน ขณะเดียวกันก็มีความรู้ติดตัวที่สามารถนำกลับไปสู่ชุมชนได้” นายสว่าง กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการ ABCD CENTRE กล่าวว่า FRC ถือเป็นแนวทางใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ได้กับประเทศไทย โดยแนวทางนี้เป็นหนึ่งในองค์ความรู้จากที่ ABCD CENTRE ในฐานะแพลทฟอร์มบูรณาการความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมด้านผู้สูงอายุ ได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างถูกทิศทาง